26 August 2013

เรื่องที่น่าเศร้า...ทางการศึกษา?

การทำธุรกิจใดๆก็ตาม#ย่อมทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้ผลกำไรสูงที่สุด#เช่น พยามยามลดต้นทุนต่างๆ#จนบางครั้งไม่ได้มองถึงผลผลิตว่ามีคุณภาพหรือไม่#และมันจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก#หากมองการศึกษาเป็นธุรกิจ#Thailand only¥_¥!!

25 July 2013

ศัพท์บัญญัติการศึกษา


education reform : การปฏิรูปการศึกษา
National Education Act : พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
basic education : การศึกษาขั้นพื้นฐาน
lifelong education : การศึกษาตลอดชีวิต
formal education : การศึกษาในระบบ
non –formal education : การศึกษานอกระบบ
informal education : การศึกษาตามอัธยาศัย
correspondence education : การศึกษาทางไปรษณีย์
distance education : การศึกษาทางไกล
compulsory education : การศึกษาภาคบังคับ
continuing education : การศึกษาต่อเนื่อง
elementary education : ประถมศึกษา
early childhood education : การศึกษาปฐมวัย
higher education : อุดมศึกษา
educational institution : สถานศึกษา
educational standard : มาตรฐานการศึกษา
internal quality assurance : การประกันคุณภาพภายใน
external quality assurance : การประกันคุณภาพภายนอก
educator : นักการศึกษา
instructor : อาจารย์/ผู้สอน
faculty staff : คณาจารย์
educational institution administrator : ผู้บริหารสถานศึกษา
educational administrator : ผู้บริหารการศึกษา
educational administration : การบริหารการศึกษา
educational personnel : บุคลากรทางการศึกษา
educational service area : เขตพื้นที่การศึกษา
learning process : กระบวนการเรียนรู้
achievement : ผลสัมฤทธิ์
active learning : การเรียนแบบมีส่วนร่วม
child-centered education : การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง
child-centered learning : การเรียนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง
child-centered curriculum : หลักสูตรที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง
curriculum : หลักสูตร
*รวบรวมจาก ศัพท์บัญญัติการศึกษาฉบับกรมวิชาการ

27 June 2013

ฮาวาร์ดครองแชมป์ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก


ฮาวาร์ดครองแชมป์ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก

ที่มา:ความรู้รอบตัว.com

Harvard.
มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ยังคงรักษาแชมป์อย่างต่อเนื่องในการเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2013 จากการจัดอันดับของนิตยสาร ไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชั่น โดยความร่วมมือจากบริษัท ธอมสัน รอยเตอร์ เจ้าของสำนักข่าวรอยเตอร์ในการจัดอันดับความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยโลกประจำปี 2556 จำนวน 100 อันดับ วัดจากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มนักวิชาการชั้นนำของโลก และการรับรู้ของคนทั่วไป
โดยมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดของสหรัฐฯครองอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลก ตามด้วยอันดับ 2  คือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์(MIT)ของสหรัฐฯเช่นกัน ส่วนอันดับ3-4 คือมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ของอังกฤษ ด้านมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ ของสหรัฐฯติดอันดับ 5

19 June 2013

ชีวิตเด็กออทิสติกเมื่อเติบใหญ่

หนังสือ Boy Alone
       สถิติการสำรวจประชากรที่เป็นออทิสติก ซึ่งดำเนินการโดย Centers for Disease Control and Prevention ของอเมริกา ในปี 2008 ให้ข้อมูลที่แสดงว่า จากเด็กอเมริกัน 150 คน จะมีเด็กที่เป็นออทิสติก (autistic) 1 คน
     
       แม้สังคมทั่วไปมักสนใจว่า เด็กอาภัพเหล่านี้จะใช้ชีวิตอย่างไร แต่แทบทุกคนก็ไม่มีข้อมูลว่า เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะใช้ชีวิตอย่างไร และจบชีวิตอย่างไร
     
       ในหนังสือ Boy Alone: A Brother’s Memoir ที่ Karl T.Greenfield เรียบเรียง และจัดพิมพ์โดย Harper ในปี 2009 ผู้เขียนได้บรรยายเหตุการณ์ชีวิตของ Noah Greenfield ผู้น้องชายซึ่งเป็นออทิสติกตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงวัยกลางคน ว่า ปัจจุบัน Noah วัย 45 ปีกำลังพักอยู่ที่สถานพยาบาลคนไข้ที่เป็นออทิสติกชื่อ Fairview Developmental Center ที่เมือง Costa Mesa ใน California และได้อยู่ที่นั่นเป็นเวลานานถึง 15 ปีแล้ว
     
       Noah ณ วันนี้เป็นคนผอม ศีรษะใกล้ล้าน ชอบนั่งนิ่ง ไม่โอภาปราศรัย โกรธง่าย และมีพฤติกรรมรุนแรง 3 แบบ คือ ชอบโขกศีรษะกับของแข็ง เช่น กำแพงหรือพื้น หยิกตัวเอง และจับเนื้อต้องตัวคนอื่น
     
       ทั้งๆ ที่นางพยาบาล และผู้ดูแลจะพยายามควบคุมเรื่องอาหารการกินของ Noah และหาวิธีรักษาที่ทันสมัย โดยให้กินยาที่เชื่อว่ามีคุณภาพ แต่สภาพกายและสภาพจิตใจของ Noah ก็ไม่ดีขึ้นเลย กลับมีทีท่าว่า Noah จะต้องการคนดูแลไปจนตลอดชีวิต ชีวิตเช่นนี้จึงเป็นภาระที่หนักมากสำหรับพ่อแม่ และญาติพี่น้อง ตลอดจนรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบในการจัดหาสวัสดิการต่างๆ ให้ Noah ด้วย
     
       ทุกวันนี้ประชากรโลกกำลังเพิ่มมากขึ้นๆ ตลอดเวลา ดังนั้น คนที่เป็นออทิสติกก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่นักวิชาการและสังคมมักให้ความสนใจในเด็กออทิสติกมากกว่าผู้ใหญ่ออทิสติก ดังนั้น ครอบครัวที่กำลังมีผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ จึงไม่รู้ว่าจะหันไปพึ่งใคร อย่างไร และเมื่อใด ทำให้ต้องพึ่งตนเองก่อน ซึ่งในกรณีของเด็กออทิสติกนั้น พ่อแม่อาจให้ลูกสวมหมวกกันน็อก เพื่อป้องกันอันตรายจากการโขกศีรษะกับของแข็งหรือจากการที่เด็กเอาไม้ฟาด ศีรษะตนเอง ซึ่งถ้าจัดการป้องกันไม่ทันเด็กก็จะทำร้ายตนเองจนเป็นคนที่น่าสงสารมาก
     
       Karl ซึ่งเป็นพี่ชายของ Noah เล่าว่า ทุกคนในครอบครัว Greenfeld เริ่มกังวลเมื่อเห็น Noah ตั้งแต่อยู่ในวัยทารกว่า มีพัฒนาการช้าเช่น ไม่คลาน ไม่เดินและไม่ทำอะไรเลย เมื่อถึงวัยอันควร นอกจากพูด แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน สำเนียงการพูดก็เริ่มผิดปกติอีก การวิเคราะห์โดยแพทย์ แสดงให้ทุกคนรู้ว่า Noah เป็นออทิสติก
     
       ในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน ชาวอเมริกัน คิดว่า มีคนที่เป็นออทิสติกน้อยมาก กุมารแพทย์และนักจิตวิทยามักรักษาด้วยการสอนวิธีทำจิตบำบัดให้คนที่เป็นพ่อ แม่ เพื่อจะได้ฝึกลูกให้มีอาการดีขึ้น
     
       ครอบครัว Greenfield จึงได้อพยพจาก New York ไป Los Angeles เพื่อหาหมอที่จะรักษา Noah โดยไปที่โรงพยาบาลของ University of Los Angeles ในขณะนั้น Noah มีอาการหนัก เพราะไม่พูดเลย แต่งเนื้อแต่งตัวเองไม่ได้ และใช้ห้องน้ำไม่เป็น แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น จนกระทั่ง Noah อายุ 5 ขวบ พ่อแม่จึงตัดสินใจหาหมอคนใหม่ นี่นับเป็นความผิดหวังครั้งแรกของครอบครัว และความผิดหวังครั้งต่อๆ มาก็กำลังตามมา
วัยเด็กของ Noah และครอบครัว
       แม่จึงนำ Noah เข้าโรงเรียนพิเศษ และได้พบว่า ทางโรงเรียนจัดชั่วโมงให้ Noah เรียนค่อนข้างน้อยกว่าเด็กปกติ และให้หยุดเรียนบ่อยกว่าเด็กปกติ จึงพากลับมาอยู่ที่บ้านเพื่อให้พ่อแม่สอนหนังสือเอง ส่วนพ่อก็กำลังป่วยเป็นโรคหัวใจจึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ แม่ได้ทำงานหนักมากเพื่อ Noah โดยใช้เวลาอยู่กับ Noah วันละหลายชั่วโมง และพยายามฝึกให้ Noah พูด รวมถึงฝึกการเล่นออกกำลังกาย จนแม่รู้สึกเหนื่อยอ่อน และหมดแรง
     
       เมื่อถึงขั้นนี้ทุกคนในครอบครัวรู้สึกว่า ทั้งพ่อและแม่กำลังจะหมดความสามารถช่วยลูกคนนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะถ้า Noah ใช้ชีวิตอยู่ต่อที่บ้าน ไม่พ่อหรือแม่คนหนึ่งคนใดก็ต้องตายก่อน ครอบครัวจึงพยายามหาสถานที่ใหม่ให้ Noah ไปอยู่ และอีกหนึ่งปีต่อมาก็หาได้ที่ San Fernando Valley ใน California
     
       ทุกคนจึงพากันไปดูสถานพยาบาลใหม่ และพบว่า คนไข้ที่สถานพยาบาลนี้ถูกจัดให้พักในห้องที่มี 4 เตียงนอน มี 2 หน้าต่างที่มีม่านกันแดด Noah ต้องพักร่วมกับเด็กหนุ่มคนอื่นๆ อีก 3 คน ทุกคนมีตู้เสื้อผ้าส่วนตัว และเพื่อป้องกันการทะเลาะกับเพื่อนร่วมห้อง แม่ได้ปักชื่อที่เสื้อผ้าของ Noah ทุกชิ้น รวมถึงได้บอกเจ้าหน้าที่ว่า Noah ชอบกินอะไรเป็นพิเศษด้วย แต่ก่อนจะออกจากสถานพยาบาล ทุกคนก็ใจหาย เพราะพ่อแม่ต้องลงนามในเอกสารอนุญาตให้ผู้ดูแล Noah สามารถทุบตี ตบ และฟาด Noah ด้วยไม้เรียวได้ ทั้งๆ ที่การลงโทษลักษณะนี้ดูทารุณ แต่ก็ต้องเซ็นชื่อไปและร้องไห้ไป เพราะรู้สึกเสมือนส่งลูกเข้าทัณฑ์สถานที่อาจฆ่าลูกของตนเองได้
     
       Noah เองไม่รู้ตัวเลยว่า จะต้องพำนักที่นั่น (อาจจะตลอดชีวิต) และไม่รู้แม้แต่น้อยว่าตนกำลังจะถูกทิ้ง เพราะเมื่อถึงเวลาต้องจากกัน Noah กลับโบกมือลา และไม่แสดงอาการอาลัยใดๆ
     
       นี่เป็นสถานพยาบาลแห่งแรกที่ Noah เข้าพัก และอีกหลายแห่งที่กำลังจะตามมา เพราะสถานที่บางแห่งดี แต่ก็ไม่เป็นที่พอใจนัก และสถานพยาบาลสุดท้ายที่ไปชื่อ Fairview Developmental Center ซึ่งประกอบด้วย บังกะโล 50 หลัง กระจายอยู่ในพื้นที่ 100 ไร่ และให้การดูแลผู้ใหญ่พิเศษ คือ คนที่เป็นออทิสติกระดับรุนแรง
Karl ผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับน้องชายผู้เป็นออทิสติก
       Karl เล่าว่า หลายครั้งที่เขากับพ่อแม่ไปเยี่ยมน้องชาย เขาจะเห็นที่ตามตัวของ Noah มีบาดแผล ขอบตาบอบช้ำ และฟันบางซี่หัก จึงไต่ถามเจ้าหน้าที่ และได้รับคำตอบว่า Noah ทำร้ายตนเอง สำหรับด้านการรักษานั้น ก็ได้รับคำชี้แจงว่า ยาที่ใช้บำบัดเพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยยาที่ใช้ ได้แก่ Trileptal, Zyprexa และ Ativan ซึ่งแพทย์ฉีดให้เพราะ Noah มีอายุมากถึงขั้นที่ใช้ยาแรงๆ ได้แล้ว นอกจากนี้ แพทย์ยังให้ยา Remeron รักษาอาการซึมเศร้าของ Noah ด้วย พ่อแม่จึงปรึกษาจากแพทย์ว่า จากการสังเกตเวลาไปเยี่ยมรู้สึกว่า Noah ป่วยมากขึ้นทั้งกายและใจ ทั้งๆ ที่ได้บริโภคยามากขึ้น ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ถ้าไม่พอใจ ก็ย้าย Noah ออก แต่ถ้าจะอยู่ต่อก็ต้องกินยาเพิ่ม หรือถ้าจะไปอยู่ที่อื่น ก็ต้องระวัง เพราะเพื่อนร่วมห้องของ Noah อาจเป็นฆาตกรที่คลุ้มคลั่งฆ่าคนก็ได้
     
       ทันทีที่ได้ยินคำตอบ พ่อแม่ก็รู้สึกว่า ตนไม่มีตัวเลือกมาก และรู้ดีว่าสถานพยาบาลผู้ใหญ่ออทิสติกเหล่านี้ ไม่มีที่ใดจะดีเลิศ และเมื่อสถานเหล่านี้เป็นของรัฐบาล ถ้าเวลาใดได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนค่อนข้างน้อย คุณภาพของการให้บริการก็จะตกต่ำ และพ่อแม่ของคนไข้ก็ต้องจ่ายค่าดูแลรักษาส่วนเกิน ครอบครัวจึงตัดสินใจหาสถานดูแล Noah แห่งใหม่
     
       ในปี 2006 พ่อแม่หาสถานที่ใหม่ได้ชื่อ Westside Regional Center ที่ Los Angeles ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ทุกคนจึงสามารถเดินทางไปเยี่ยม Noah ได้ทุกสัปดาห์
     
       Noah ได้เข้าพักในบ้านที่มี 2 ห้องนอน และมีเพื่อนร่วมห้องเป็นผู้หญิงที่เป็นคนปกติ ซึ่งรับงาน “ดูแล” Noah และได้เงินตอบแทนบ้าง โดยเธอจะทำหน้าที่ในเวลากลางวัน เช่น พาไปเดินเล่นหรือไปร้าน Fast Food และเมื่อเธอย้ายออกไป Noah ก็ต้องหาเพื่อนร่วมห้องคนใหม่
     
       การดูแลลักษณะนี้ทำให้ Noah ไม่ต้องพึ่งพายามาก จากยา 4 ขนานที่เคยกิน ก็ลดเหลือ 2 ขนาน แผลฟกช้ำดำเขียวตามตัวก็ค่อยๆ เลือนหายไป และทุกคนก็รู้สึกดีขึ้น เพราะเวลาไปเยี่ยม Noah จะวิ่งเข้ามาสวมกอด ยิ้มกว้าง และเอาใบหน้าซุกที่ไหล่พ่อ วันใดที่มีอารมณ์ดีก็จะร้องเพลงที่แต่งเองแต่เพียงเบาๆ การแสดงออกเหล่านี้ทำให้ทุกคนรู้ว่า Noah มีความสุข
     
       แต่ในบางครั้ง Noah ก็แสดงอารมณ์ร้าย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะตอบว่า ในภาพรวม Noah ดีขึ้นหรือเลวลง และเวลาใครถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ตรงๆ Noah ก็ไม่ตอบ
     
       อาการขึ้น-ลงของ Noah คงเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งได้ทำให้ทุกคนในครอบครัวต้องต่อสู้กับวิกฤตการณ์ตลอดมาอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งที่มีเหตุการณ์รุนแรง พ่อแม่ก็จะรวบรวมสติเพื่อหาทางออกของปัญหาทุกครั้งไป
     
       ปัจจุบันพ่อของ Noah อายุ 85 ปีแล้ว ส่วนแม่ก็ใกล้ 80 และเมื่อพ่อแม่จากไป Karl ผู้พี่ชายก็จะต้องรับการดูแล Noah ต่อ แต่จะช่วยได้ดีเหมือนพ่อแม่หรือไม่ Karl คิดว่า “ได้” ... แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้นานแค่ไหน
     
       Karl เริ่มเขียนหนังสือ Boy Alone ด้วยความหวังว่า ประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นนี้ จะให้ความหวังแก่ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นออทิสติกให้มีความหวังให้ส่างทุกข์ และลดโศกลงบ้าง แต่ความจริงของชีวิตก็คือ คนเหล่านี้ไม่มีวันจะมีอาการดีขึ้น ถ้านักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบวิธีรักษาและป้องกันออทิสติกครับ
       เกี่ยวกับผู้เขียน
     
       สุทัศน์ ยกส้าน
       ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
     
       ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
     
       อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์

18 June 2013

นักฟิสิกส์โนเบลผู้รณรงค์ให้ทุกชาติกำจัดระเบิดปรมาณู



Joseph Rotblat
       Joseph Rotblat เป็นหนึ่งในบรรดานักฟิสิกส์คนแรกๆ ของโลกที่รู้ว่า ระเบิดปรมาณูมีพลังในการทำลายมนุษย์ชาติได้ ดังนั้นเขาจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตมารณรงค์ให้ประเทศมหาอำนาจ ไม่คิดจะใช้และลดปริมาณอาวุธนิวเคลียร์ที่สะสมไว้เพื่อโลกจะได้ปลอดภัย
     
       J.Rotblat เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1908 ที่กรุง Warsaw ในโปแลนด์ บิดามารดามีสัญชาติยิว ครอบครัวมีฐานะปานกลางจากการทำธุรกิจกระดาษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อยุโรปตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ครอบครัว Rotblat จำต้องต้มเหล้าเถื่อนขายในห้องใต้ดิน แล้วเอาเงินที่ขาย Somogonka (ว้อดก้าผิดกฎหมาย) ได้มาใช้หนี้
     
       เพราะ ครอบครัวลำบาก Joseph วัย 15 ปี จึงต้องทำงานเป็นช่างไฟฟ้าในเวลากลางวันเพื่อหาเงินเข้าบ้าน และใช้เวลากลางคืนเล่าเรียนฟิสิกส์ด้วยตนเอง ความบากบั่นพยายาม และความสามารถของ Rotblat ทำให้ได้รับทุนเรียนดีของรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ Free University of Poland จนจบปริญญาเอก ด้วยการวิจัยเรื่อง การกระเจิง (scattering) ที่ไม่ยืดหยุ่นของอนุภาคนิวตรอนในสสาร ทั้งๆ ที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยอยู่ในสภาพไม่ดี และไม่พร้อมสำหรับการวิจัยขั้นสูงเลย
     
       หลังจากนั้น Rotblat ได้ไปทำงานที่ห้องปฏิบัติการกัมมันตรังสี (Radiological Laboratory) ของสมาคม Scientific Society of Warsaw ขณะปฏิบัติงานอยู่ที่นั่น Rotblat ได้ทราบข่าวที่สำคัญมาก ว่า Otto Hahn กับ Fritz Strassmann ในเยอรมนีได้พบปรากฏการณ์ Fission ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออนุภาคนิวตรอนที่มีความเร็วต่ำพุ่งชนนิวเคลียสของ ยูเรเนียม-235 แล้วทำให้นิวเคลียสแบ่งตัวเป็นนิวเคลียสใหม่สองส่วน คือ มีนิวเคลียสของ Krypton กับ Barium เกิดขึ้น นอกจากนี้ก็มีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นด้วย
     
       Rotblat จึงมุ่งทำการทดลองนี้ซ้ำเพื่อดูว่า ในการแบ่งตัวของนิวเคลียสในแต่ละครั้งนั้น มีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นกี่ตัว เพราะถ้ามีนิวตรอนเกิดขึ้น 1 ตัว ปฏิกิริยานิวเคลียร์นี้ก็ไม่สามารถปลดปล่อยพลังงานออกมาได้ แต่ถ้ามีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตัว ปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ที่สามารถปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็จะเป็นเรื่องจริง และนั่นหมายความว่า การค้นพบนี้สามารถนำไปประยุกต์สร้างระเบิดปรมาณูได้
     
       ในที่สุด Rotblat ก็ได้พบว่า ทุกครั้งที่นิวเคลียสของยูเรเนียมแบ่งตัวจะมีอนุภาคนิวตรอนเกิดตามมามากกว่า 1 ตัวเสมอ แต่ Rotblat ตีพิมพ์องค์ความรู้นี้ช้ากว่า Frederic Joliot – Curie เล็กน้อย ดังนั้นเครดิตการพบอนุภาคนิวตรอนจำนวนมากกว่า 1 อนุภาค ในปฏิกิริยานิวเคลียร์ fission จึงตกเป็นของ Joliot – Curie
     
       ในปี ค.ศ.1939 Rotblat ได้เดินทางออกจากโปแลนด์เพื่อไปทำงานวิจัยกับ James Chadwick (ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 1935 ด้วยการค้นพบอนุภาค neutron) ที่มหาวิทยาลัย Liverpool ในอังกฤษ เพราะที่นั่นมีเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก และ Rotblat ก็คาดหวังว่าประสบการณ์ที่จะได้จาก Liverpool จะทำให้สามารถสร้างเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron ได้ที่โปแลนด์ แต่ Chadwick กลับมอบหมายให้ Rotblat ศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างระเบิดปรมาณูแทน เพราะขณะนั้น กองทัพนาซีกำลังคุกคามยุโรป Rotblat จึงเข้าทำงานในโครงการปรมาณูของอังกฤษโดยใช้รหัสว่าชื่อ Maud and Tube Alloys
     
       ลุถึงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.1939 Rotblat ได้เดินทางกลับไปเยือนโปแลนด์เพื่อเข้าพิธีสมรสกับ Tola Gryn ที่กำลังเรียนปริญญาตรีวิชาเอกวรรณคดีที่ Warsaw และตั้งใจจะนำภรรยากลับอังกฤษด้วย เพราะมีเงินเดือนเพียงพอสำหรับตนเองและภรรยาแล้ว แต่โชคไม่ดีที่ Tola ล้มป่วยด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ Rotblat ต้องเดินทางกลับอังกฤษเพียงคนเดียว แต่ Tola ยังไม่ทันเป็นปกติดี เมื่อถึงวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1939 กองทัพนาซีก็บุกโปแลนด์ และเข้ายึดกรุง Warsaw ได้ในเวลาไม่นาน
     
       ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 Rotblat ได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะนำภรรยาออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางประเทศ Belgium, Denmark หรือ Italy แต่เขาประสบความล้มเหลวทุกครั้งไป จนในที่สุดภรรยาของเขาถูกทหารนาซีจับแล้วส่งเข้าค่ายกักกัน จนเสียชีวิตในที่สุดตลอดเวลานี้ Rotblat ไม่รู้เรื่องเลย จนกระทั่งสงครามโลกยุติ เขาจึงรู้ข่าว
     
       ใน ปี ค.ศ.1943 Rotblat วัย 35 ปี ได้ติดตาม Chadwick ไปทำงานที่ Los Alamos National Laboratory ของอเมริกาและ เมื่อคณะนักฟิสิกส์อังกฤษรู้ว่า ระเบิดปรมาณูคืออาวุธสงครามที่อาจสร้างได้ ผลที่ตามมาคือ นายกรัฐมนตรี Winston Churchill ของอังกฤษ และประธานาธิบดี Franklin Roosevelt ของสหรัฐอเมริกาได้เซ็นสัญญาตกลงให้นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ และนักวิทยาศาสตร์อเมริกาทำงานร่วมกันในโครงการ Manhattan เพื่อผลิตระเบิดปรมาณู แม้ Rotblat จะเป็นชาวโปแลนด์ที่เป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตร บารมีของ Chadwick ได้ช่วยให้ Rotblat ได้เข้าร่วมโครงการที่จะผลิตระเบิดมหาประลัยเพื่อฆ่าคน ทั้งๆ ที่ Rotblat นั้นรักสันติภาพ แต่ก็มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Rotblat ตัดสินใจเข้าทำงานในโครงการ Manhattan คือเพราะเขาคิดว่า Adolf Hitler ก็กำลังจะสร้างระเบิดปรมาณูเช่นกัน ดังนั้นถ้า Hitler สร้างได้ก่อน ความบรรลัยจะเกิดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
ระเบิดปรมาณูจากโครงการ Manhattan ที่ถล่มเมืองนางาซากิ ญี่ปุ่น
       ด้วยเหตุนี้ในปี 1944 ที่ Rotblat สืบทราบมาว่ากองทัพนาซีเยอรมัน สร้างระเบิดปรมาณูไม่เป็น เขาจึงลาออกจากโครงการ Manhattan ทันที ทำให้ Rotblat เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก และคนเดียวที่ผละจากโครงการ ก่อนที่ระเบิดปรมาณูจะเป็นตัวเป็นตน นอกจากเหตุผลนี้แล้ว Rotblat ก็ยังได้อ้างสาเหตุการลาออกจากโครงการว่า จากการสนทนากับนายพล Leslie Groves ผู้เป็นหัวหน้าของโครงการ Manhattan ท่านนายพลได้ปรารภว่า หลังสงคราม สหรัฐฯ จะใช้ระเบิดปรมาณูถล่มรัสเซียซึ่ง Rotblat ก็ไม่เห็นด้วยอีก จึงเดินทางกลับ Liverpool ทันที
     
       ครั้นเมื่ออเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ Hiroshima กับ Nagasaki ในปี 1945 ข่าวการเสียชีวิตของผู้คนนับแสน ได้ทำให้ Rotblat เสียใจมาก เขาจึงเปลี่ยนเข็มทิศชีวิตไปทำงานที่ Atomic Scientists Association เพื่อนำความรู้วิทยาศาสตร์เรื่องพลังงานปรมาณูไปถ่ายทอดให้สังคม และตั้งใจจะปลุกระดมนานามหาอำนาจให้มีการบังคับใช้พลังงานปรมาณูในทางสันติ เท่านั้น Rotblat จึงเป็นหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คนที่พยายามปลุกระดมให้มีการ ควบคุมการใช้พลังงานปรมาณู เมื่อสงครามโลกยุติ Rotblat ก็ได้โอนสัญชาติเป็นอังกฤษ เพราะไม่ต้องการจะเดินทางกลับโปแลนด์อีก
     
       ในบทบาทของการวิจัยวิทยาศาสตร์นั้น Rotblat ได้เปลี่ยนแนวการวิจัยนิวเคลียร์บริสุทธิ์ไปเป็นการประยุกต์นิวเคลียร์ในทาง การแพทย์ เพื่อหาวิธีรักษามะเร็ง ด้วยการเข้าทำงานที่ Saint Bartholomew’s Hospital Medical College แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน และวิจัยเรื่องการใช้เครื่องเร่งอนุภาคผลิตนิวเคลียสกัมมันตรังสี เพื่อรักษามะเร็ง จนถึงปี 1950 เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์
     
       ในงานวิจัยที่ทำกับ Patricia J. Lindrop เรื่องผลกระทบของรังสีที่มีพลังงานสูงต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่ใช้หนู เป็นสัตว์ทดลอง คนทั้งสองได้พบว่ารังสีทำให้ร่างกายหนูเป็นมะเร็งได้หลายชนิด นอกเหนือจากโรค leukemia ที่ผู้คนรู้จักดี ในปี 1954 ผลงานนี้ได้ถูกนำมาใช้วิเคราะห์ภัยอันตรายที่เกิดกับชาวประมงญี่ปุ่น ซึ่งแล่นเรืออยู่ใกล้บริเวณที่สหรัฐฯ ทดลองระเบิดไฮโดรเจน และวงการวิชาการก็เริ่มตื่นตัวเพราะตระหนักได้ว่า ระเบิดไฮโดรเจนที่สำหรัฐฯ ทดลองไปนั้นผลิตฝุ่นกัมมันตรังสีได้มากผิดปกติ คำกล่าวหาของ Rotblat ในเรื่องนี้ได้ทำให้รัฐบาลสัมพันธมิตรกระวนกระวาย เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเชิงลบลักษณะนี้
     
       ในช่วงเวลานั้น Rotblat ได้เดินทางไปพบ Bertrand Russell ในรายการโทรทัศน์ BBC ชื่อ Panorama เหตุการณ์ที่เกิดตามมาคือ ในปี 1955 Russell เป็นปราชญ์คนหนึ่งใน 11 คน ที่ได้ลงนามในแถลงการณ์ Russell – Einstein เตือนโลกให้ตระหนักในภัยนิวเคลียร์ และแถลงการณ์ฉบับนั้นได้ชักนำให้นักเคลื่อนไหวออกมาจัดประชุมเพื่อถกปัญหา นี้ในปี 1957 โดยใช้ชื่อ Pugwash Conference เพราะสถานที่จัดคือหมู่บ้าน Pugwash ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ Nova Scotia ในแคนาดา
     
       ในการประชุมครั้งแรกมีนักวิทยาศาสตร์มาร่วม 22 คน (Rotblat เป็นหนึ่งในนั้น) 3 คน ได้รับรางวัลโนเบล และมีรองประธานของ Academy of Sciences จากรัสเซีย กับอดีตผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลกเข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมได้ทำรายงานเสนอวิธีป้องกันและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงได้เน้นเรื่องความรับผิดชอบของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีต่อสังคมด้วย
     
       จากครั้งแรกที่จัด ในเวลาต่อมา การประชุมได้เกิดตามมาอีกกว่า 300 ครั้ง โดยมี Rotblat เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทุกครั้ง ในที่สุดกิจกรรมนี้ก็ได้ทำให้เกิดองค์กร Pugwash Organization อย่างเป็นทางการ ซึ่งองค์กรนี้มีบทบาทในการลดอาวุธนิวเคลียร์ของชาติมหาอำนาจ รวมถึงมีหน้าที่ดูแลและตรวจสอบสรรพาวุธของกันและกัน จัดทำสนธิสัญญาควบคุมอาวุธสงคราม ติดต่อประสานงานระหว่าง Henry Kissinger กับ Le Due Tho ในสงครามเวียดนาม และเป็นผู้ประสานความขัดแย้งระหว่าง Arab กับ Israel ด้วยในบางครั้ง
     
       ในปี 1995 Joseph Rotblat กับองค์กร Pugwash ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน
     
       ในปี 2004 Rotblat กับ Mikhail Gorbachev อดีตนายกรัฐมนตรีของรัสเซียได้จัดตั้งโครงการเตือนภัยของอาวุธที่มีอำนาจ ทำลายล้างรุนแรง (Weapons of Mass Destruction Awareness)
     
       ในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ Rotblat ทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์เป็นงานหลัก และแต่งตำรากว่า 40 เล่ม นอกเหนือจากรางวัลโนเบลแล้ว Rotblat ยังได้รับรางวัลของสมาคม Bertrand Russell Society ในปี 1983 รางวัล Albert Einstein Peace Prize ในปี 1992 และได้รับการโปรดเกล้าเป็นท่าน Sir ของอังกฤษในปี 1969 ด้วย
     
       ในงานเลี้ยงฉลองรางวัลโนเบล Rotblat ได้กล่าวสรุปคำบรรยายว่า “ความ ประสงค์จะให้โลกปราศจากสงครามนั้น มีพื้นฐานมาจากความต้องการให้คนทุกคนมีชีวิต และการที่จะบรรลุจุดประสงค์นั้นได้ เราต้องรักกันมากกว่ากลัวกัน”
     
       Joseph Rotblat จากโลกไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.2005 สิริอายุ 96 ปี
     
       อ่าน เพิ่มเติมจาก Joseph Rotblat: Visionary for Peace โดย Reiner Braun et al. จัดพิมพ์โดย Wiley ในปี 2007
       เกี่ยวกับผู้เขียน
     
       สุทัศน์ ยกส้าน
       ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
     
       ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
     
       อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์